วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มังกรขาว สัตว์ในเทพนิยาย




จั่วหัวเรื่องว่า มังกรขาว แต่จริงๆ แล้ว สัตว์ที่นำมาบอกเล่าเก้าสิบนี้ คือ ซาลามานเดอร์ถ้ำ หรือ Olm ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Proteus anguinus

ซาลามานเดอร์ถ้ำ เป็นสัตว์ที่อาศัยในน้ำตลอดชีวิต พบได้ทางตอนใต้ของยุโรป ในถ้ำ Dinaric karst อันมืดมิดเท่านั้น จึงส่งผลให้ ดวงตา ของสัตว์ชนิดนี้ไม่มีการพัฒนา เนื่องจากไม่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ จึงจะเห็นว่าที่ส่วนดวงตามีผิวหนังมาปกคลุมปิดทับเอาไว้ แต่จะมีการพัฒนาในเรื่องการดมกลิ่นและการรับเสียงอย่างมาก เพราะจำเป็นสำหรับการล่าเหยื่อ โครงสร้างร่างกายมีลำตัวกลม ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีเหงือกโผล่ออกมานอกร่างกาย 1 คู่ ใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ มีขาสั้น โดยขาหน้ามี 3 นิ้ว ส่วนขาหลังมี 2 นิ้ว

แต่สิ่งที่ทำให้สัตว์ชนิดนี้จัดเป็นสัตว์สายพันธุ์แปลกที่สุดของโลกชนิดหนึ่งคือ จากผลการศึกษาของนักวิจัยพบว่า มันสามารถอดอาหารได้นานถึง 10 ปี (อยู่ได้ไงวะ 5555+)

ขอบอกว่า สัตว์ชนิดนี้หลายคนอาจไม่เคยเห็น แต่เค้าค้นพบกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าตื่นตูมเมื่อเห็น (เด๋ว เค้าจะหาว่า บ้านนอก 5555+) เพราะมันเคยปรากฎอยู่ในหนังสือ On the origin of species ของ บิดาแห่งวิวัฒนาการ (อยากรู้ว่าใคร ไปหาเอาเอง 5555+) ด้วย เป็นไง นานพอใช่ปะ?

ชากุหลาบพันปี


ชากุหลาบพันปี เมื่อชงด้วยน้ำร้อนจะมีกลิ่นหอมดอกกุหลาบ รสชาติน่ารับประทาน และมีสรรพคุณมากมาย เช่น ดื่มเป็นประจำทำให้นอนหลับง่าย ผิวพรรณสดใส ชะลอความแก่ บำรุงหัวใจ ละลายไขมันในเส้นเลือด และช่วยปรับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนให้ปกติ เป็นต้น

ขอแนะนำ หากท่านไปเที่ยวดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ อย่าซื้อที่ด้านล่างดอย เพราะราคาแพงถึง 170 บาท ให้ไปซื้อบนยอดดอยอ่างขางราคาจะถูกกว่า คือ 100 บาท

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ค้นพบทากทะเลชนิดใหม่ของโลก ที่บ้านเราเอง




Aiteng ater ทากทะเลชนิดใหม่ ค้นพบที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดเป็น 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก โดยได้นำชื่อตัวหนังตะลุง "ไอ้เท่ง" มาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ส่วนคำว่า ater เป็นภาษาละติน แปลว่า สีดำ


ทากทะเลชนิดใหม่นี้ ถูกค้นพบโดย ด็อกเตอร์ C. Swennen ผู้เชี่ยวชาญชีววิทยาทางทะเล จากประเทศเนเธอร์แลนด์ วัย 81 ปี และนายสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี


เอาละ....คนเรียนวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ถ้าบ้านใครอยู่อำเภอปากพนังแต่ไม่รู้ข่าวนี้ ขอบอกว่า เชยสุดๆ 5555+ เพราะชี้ให้เห็นว่าคุณตกข่าวดังเข้าให้แล้ว และไม่ได้รักชีววิทยาแบบเข้าไส้จริงๆ

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โยชิโร นากามัตสึ อัจฉริยะแดนปลาดิบ



ดร.โยชิโร นากามัตสึ อัจฉริยะนักประดิษฐ์สิ่งของตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เจ้าของฉายา "เอดิสันแห่งญี่ปุ่น" วัย 82 ปี ผู้มีทั้งความเฉลียวฉลาด พรสวรรค์ ความเป็นเลิศ และลูกบ้า รวมอยู่ในคนเดียวกัน และเขาคนนี้เองเป็นผู้รังสรรค์อุปกรณ์บันทึกข้อมูล "ฟล็อปปี้ดิสก์" ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่เมื่อหลายทศวรรษก่อน ปัจจุบัน ดร.นากามัตสึได้รับการยกย่องจากสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐ ในฐานะ 1 ใน 5 นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก มีผลงานการคิดค้นที่จดสิทธิบัตรแล้วมากที่สุดในโลกกว่า 3,300 ชิ้น เช่น ซีดี ฮาร์ดดิสก์ ดีวีดี ระบบซีเนมาสโคป มิเตอร์แท็กซี่ นาฬิกาดิจิตอล ฯลฯ โดยจุดเริ่มต้นวิถีชีวิตนักประดิษฐ์ของเขาเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ขณะอายุ 14 ปี เมื่อต้องการสร้างอุปกรณ์ปั๊มน้ำด้วยมือ เพื่อช่วยให้แม่ไม่ต้องค่อยๆ นั่งรินน้ำซีอิ๊วลงในขวดเล็กๆ จำนวนมากในฤดูหนาวจนมือสั่นงันงก ต่อมา ระบบปั๊ม หรือสูบน้ำด้วยมือชิ้นนี้ก็พัฒนาต่อยอดกลายเป็นปั๊มน้ำระดับอุตสาหกรรม! "ไอเดียใหม่ยังไม่ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นะ มันคนละเรื่องกันเลย บางคนคิดได้ไม่รู้จบแต่ไม่ศึกษามันต่อ ขณะที่บางคนก็ทำการวิจัยไปโดยไม่มีไอเดีย แต่ถ้าคุณต้องการจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ชั้นเลิศล่ะก็ คุณต้องทำทั้งสองอย่างให้ได้ดี"


ดร.นากามัตสึ บอกสื่อแดนปลาดิบ และเผยหลักการที่ใช้สร้างงานสมบูรณ์แบบ ว่าประกอบด้วย


1. ต้องมีทฤษฎีองค์ความรู้พื้นฐานของสิ่งต่างๆ


2. ต้องมีไอเดียและแรงบัลดาลใจ


3. สิ่งที่สร้างขึ้นต้องใช้งานได้จริง


4. คนมีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์ ถ้าจุดเด่นนี้ไม่ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ก็ไร้ประโยชน์


ส่วนวิธีรีดเค้นแรงบัลดาลใจของ ดร.นากามัตสึ ที่ไม่ควรลอกเลียนแบบเด็ดขาด ก็คือ ชอบดำน้ำจนอยู่ในภาวะใกล้ขาดอากาศ ในเวลา 0.5 วินาทีก่อนน้ำเริ่มเข้าสู่ปอดนากามัตสึ ตั้งเป้าว่าจะมีชีวิตยืนยาวถึง 144 ปี เพื่อจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ ให้ครบ 7,000 ชิ้นก่อนตาย!

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ต้นทุ้งฟ้า

ต้นทุ้งฟ้า
ต้นไม้ประจำจังหวัดกระบี่



ชื่อวิทยาศาสตร์

Alstonia macrohpylla Wall

วงศ์

APOCYNACEAE

ชื่ออื่น

กระทุ้งฟ้าไห้ ทุ้งฟ้าไก่ (ชุมพร), ตีนเทียน (สงขลา), ทุ้งฟ้า (ภาคใต้), พวงพร้าว (ปัตตานี)

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนสูง 15–25 เมตร ไม่ผลัดใบ กิ่งใหญ่ตั้งฉากกับลำต้นเป็นรอบๆ เรือนยอดรูปไข่ เปลือกสีขาวอมเทามีน้ำยางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอกกลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลม ท้องใบมีคราบสีขาว หลังใบสีเขียว ออกดอกเป็นช่อทีปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว หรือขาวอมเหลืองเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกช่วง เดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม ผลเป็นฝักเรียวยาว ขนาดเล็ก

การขยายพันธุ์

โดยการเพาะเมล็ด

สภาพที่เหมาะสม

เจริญเติบโตในสภาพดินลึก ระบายน้ำได้ดี ต้องการความชื้นมาก

ถิ่นกำเนิด

ป่าดงดิบ ภาคใต้

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รูปรับปริญญาคร๊าบบบบบบบบบบ



ปริญญาโท (วิทยาศาสตร์ศึกษา-ชีววิทยา) ม.วลัยลักษณ์





ปริญญาตรี (ชีววิทยาประยุกต์) ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช





ปริญญาตรี (การจัดการการผลิตสัตว์) ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่เกิดจากกล้องจุลทรรศน์

ภาพที่เกิดจากเลนส์ใกล้วัตถุของกล้องจุลทรรศน์เป็น ภาพจริงหัวกลับ

ภาพจริงหัวกลับ จะเกิดภาพที่บริเวณหลังเลนส์ และวัตถุจริงจะต้องวางอยู่ระหว่างจุด F และ 2F จึงจะเกิดเป็นภาพจริงหัวกลับ

ดูภาพประกอบได้ด้านล่างนี้ได้เลย

ภาพที่เกิดจากเลนส์ใกล้ตาของกล้องจุลทรรศน์เป็น ภาพเสมือนหัวกลับ

ภาพเสมือนหัวกลับ จะเกิดภาพที่บริเวณหน้าเลนส์ และวัตถุจริงหรือภาพจริงหัวกลับจากเลนส์ใกล้วัตถุที่นำมาใช้เป็นวัตถุเพื่อสร้างภาพเสมือนหัวกลับจะต้องวางอยู่หน้าจุด F จึงจะเกิดเป็นภาพเสมือนหัวกลับ

ดูภาพประกอบด้านล่างนี้ได้เลย

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดความรู้เรื่อง Color blindness

ตาบอดสี (Color blindness) เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมของยีนด้อยที่โครโมโซมเอ็กซ์ (X-linked recessive gene) ซึ่งตาบอดสีที่พบส่วนใหญ่เป็นตาบอดสีเขียวและตาบอดสีแดง


การทดสอบตาบอดสี สามารถทำได้โดยใช้แผนภาพทดสอบตาบอดสี ที่เรียกว่า Ishihara color blindness test ใครไม่เคยเห็นแผนภาพทดสอบตาบอดสีก็ดูซะ ภาพด้านล่างนี้แหละ


มาดูกันดีกว่าว่าข้อความเกี่ยวกับตาบอดสีด้านล่าง ข้อความไหนกล่าวได้ถูกต้องบ้าง

1. ลูกสาวตาบอดสีต้องมีพ่อตาบอดสี

ข้อความนี้ถูกต้อง เพราะหากลูกสาวเป็นตาบอดสี แสดงว่าต้องมียีนด้อยทั้งสองตัว ตัวนึงต้องได้มาจากพ่อแน่นอน ผู้ชายหากมียีนด้อยตัวเดียวก็เป็นตาบอดสีแน่นอน เพราะผู้ชายมีโครโมโซมเอ็กซ์เพียงอันเดียวเท่านั้น

2. แม่ตาปกติจะมีลูกสาวตาปกติเสมอ

ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง แม่ตาปกติมีลูกสาวตาปกติได้ แต่กรณีที่แม่เป็นพาหะ (ตาปกติเหมือนกัน แต่มียีนตาบอดสี) แล้วไปแต่งงานกับผู้ชายที่เป็นตาบอดสี ลูกสาวที่เกิดขึ้นมีโอกาสเป็นตาบอดสีได้

3. แม่ตาปกติอาจจะมีลูกชายตาบอดสี

ข้อความนี้ถูกต้อง เพราะข้อความนี้บอกว่า อาจจะ แม่ตาปกติอาจจะมีลูกชายตาบอดสีได้ ถ้าแม่เป็นพาหะ และอาจจะมีลูกชายตาปกติได้เช่นกัน ถ้าแม่ไม่ได้เป็นพาหะของโรค

4. แม่ตาบอดสีจะมีลูกชายตาบอดสีเสมอ

ข้อความนี้ถูกต้อง เพราะหากแม่มียีนด้อยทั้งสองตัว แน่นอนว่ายีนด้อยนั้นจะต้องถูกถ่ายไปให้ลูกชาย และลูกชายก็ต้องเป็นตาบอดสี เพราะมีโครโมโซมเอ็กซ์เพียงอันเดียว หากผิดปกติเป็นตาบอดสีชัวร์

5. แม่ตาปกติ (ไม่เป็นพาหะ) แต่งงานกับ พ่อตาปกติ จะได้ลูกชายและลูกสาวปกติ

ข้อความนี้ถูกต้อง พ่อแม่ไม่มียีนของโรค ดังนั้นลูกจึงต้องเป็นปกติ

6. แม่ตาปกติ (พาหะ) แต่งงานกับ พ่อตาปกติ จะได้ลูกสาวตาปกติ (เป็นพาหะหนึ่งคน และไม่เป็นพาหะหนึ่งคน) ส่วนลูกชายมีตาปกติและตาบอดสี

ข้อความนี้ถูกต้อง แม่มียีนของโรค ดังนั้นลูกชายจึงมีโอกาสเป็นทั้งตาปกติและตาบอดสี ส่วนลูกสาวก็มีโอกาสเป็นทั้งพาหะและไม่เป็นพาหะ

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Do plant cells contain lysosomes?

ในสมัยยังเป็นเด็ก (วัยรุ่น) เวลาเรียนเรื่องโครงสร้างของเซลล์ทีไร คุณครูมักจะให้ท่องปาวๆ ว่า Organelles ชนิดใดพบได้ในเซลล์สัตว์ และชนิดใดพบได้ในเซลล์พืช ซึ่งครู (ชีวะ) หลายคนก็มักบอกว่า เจ้า Organelles ที่มีชื่อว่า Lysosome นั้นไม่พบในเซลล์พืช พบเฉพาะในเซลล์สัตว์เท่านั้น บอกได้เลยว่ามันผิด ในเซลล์พืชบางชนิดพบ Lysosome ได้ และการค้นพบนี้ก็มี Report ออกมานานแล้วด้วย โดย Matile (1968) จากผลงานวิจัยเรื่อง "Lysosomes of root tip cells in corn seedlines." ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Planta 79: 181-196. และยังได้รับการยืนยันจากงานวิจัยของนักวิจัยท่านอื่นอีก เช่น งานวิจัยของ Sarah J. Swansona, Paul C. Bethkea, and Russell L. Jones. เรื่อง "Barley Aleurone Cells Contain Two Types of Vacuoles: Characterization of Lytic Organelles by Use of Fluorescent Probes." ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Plant Cell, Vol. 10, 685-698, May 1998 โดย Sarah J. และคณะ ได้กล่าวไว้ในบทความวิจัยของเขาว่า

" The existence of lysosomes in plants has long been debated (see, e.g., Moriyasu and Ohsumi 1996 ). Matile 1975 recognized that catabolic enzymes were essential for sustained biological activity and that these enzymes must be compartmentalized to prevent their indiscriminate hydrolysis of biopolymers. He proposed that plant proteases, nucleases, phosphatases, and other degradative enzymes were constituents of a "lytic compartment," a compartment that included the extracellular space, vacuoles, and other organelles containing lytic enzymes. With improved techniques for vacuole isolation, it became clear that many plant vacuoles contain enzymes found in animal lysosomes (Matile 1978 ; Wink 1993 ). Plant vacuoles were therefore seen as fulfilling the role of the animal lysosomal system (Boller and Wiemken 1986 ). "

ดังนั้น คำถาม Do plant cells contain lysosomes? คำตอบก็คือ Yes!!!

การค้นพบ Lysosome ในเซลล์พืช มีรายงานมาตั้งแต่ปี 1968 แต่ทำไมครูหลายคนจึงสอนนักเรียนว่า ในเซลล์พืชไม่พบ Lysosome นั้น Ken Miller และ Joe Levine ผู้เชี่ยวชาญด้าน Biology กล่าวว่า อาจเกิดจากการที่เซลล์พืชบางชนิดเท่านั้นที่สามารถพบ Lysosome ได้ และไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงทำให้เราคิดว่าเซลล์พืชไม่มี Lysosome และอีกทั้งนักชีววิทยาของเซลล์หลายท่านก็ออกมารับประกันว่าเซลล์พืชไม่มี Lysosome จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน

แต่อย่างไรก็ตาม หากคนเป็นครูขยันหาความรู้อยู่ตลอดเวลาในยามว่าง (แทนที่จะมานั่งเลียแข้งเลียขาเพื่อเอาหน้า หรือคอยจับผิดคนอื่น) วันหนึ่งความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ก็จะถูกขจัดออกไป

แต่ขอบอกว่า..... หนังสือชีววิทยาบางเล่มเวลาออกข้อสอบก็ยังคง ยึดหลักที่ว่า เซลล์พืชไม่มี Lysosome อันนี้ก็คงช่วยไม่ได้ละนะ อิอิ

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ใครเป็นผู้ค้นพบ Golgi complex

ผู้ที่เรียนสายวิทย์หลายคนคงรู้จัก Organelles ที่ชื่อว่า Golgi complex (หรืออาจเรียกว่า Golgi body, Golgi apparatus และ Dictyosome) แล้วเคยสังเกตมั๊ยว่าเวลาเขียนคำว่า Golgi complex หนังสือที่มีมาตรฐาน (ผู้แต่งมีความรู้จริง) และความเป็นสากล มักเขียนขึ้นต้นด้วยตัว G (ตัวจีใหญ่) นั่นเป็นเพราะคำว่า Golgi เป็นชื่อคนที่ค้นพบ Organelles ชนิดนี้ จึงต้องเขียนด้วยตัว G ไงละ ชื่อเต็มๆ ของผู้ค้นพบคือ Camillo Golgi (หน้าตาเป็นอย่างไร ดูได้จากภาพด้านล่าง) เป็นนักชีววิทยาชาวอิตาเลียน เขาค้นพบ Golgi complex ในปี ค.ศ.1898 โดยศึกษาจากเซลล์ประสาท


รู้แบบนี้แล้ว อย่าเผลอเขียนขึ้นต้นด้วยตัว g (ตัวจีเล็ก) ละ เดี๋ยวจะอายคนที่เค้ารู้จริงเสียเปล่าๆ อิอิ ตอนสอนนักเรียน (คนเป็น) ครูเองก็ต้องระวังตัวหน่อยแระ เด๋วเขียนผิดขึ้นมาจะขายหน้าแย่ อิอิ

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Vinblastine

Vinblastine เป็นสารที่สกัดมาจาก Catharanthus roseus พูดชื่อวิทยาศาสตร์แบบนี้คงงงไปเลยสิว่ามันคืออะไร คำตอบก็คือ แพงพวยฝรั่ง นั่นเอง แพงพวยฝรั่งมีชื่อสามัญมากมายหลายชื่อ เช่น Madagasgar periwinkle, Rose periwinkle, Vinca และ Old maid (แม่บ้านแก่ อิอิ) ออกนอกเรื่องซะนาน กลับไปที่เดิมต่อเถอะ Vinblastine ที่สกัดได้จากแพงพวยฝรั่งนี้ ทางการแพทย์จะนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer) มีฤทธิ์ในการสลาย Microtubule ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ Spindle fiber ในระหว่างการแบ่งเซลล์ สาร Vinblastine นี้ เคยออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย (วิชาชีววิทยา) ด้วยน้า.... ขอบอก เด็กมอปลายสายวิทย์ ไม่รู้จักไว้จะเสียใจ ด้วยความปรารถนาดีจาก LORD BIO HAZARD




วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประโยชน์ล้ำจากสาหร่ายหลากชนิด

“สาหร่าย” เมื่อกล่าวถึงคำนี้ คนทั่วไปมักนึกถึงพืชน้ำที่นิยมนำมาประดับในตู้ปลา หรือ พืชน้ำบางชนิดที่มีคำเรียกนำหน้าว่า สาหร่าย เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายฉัตร หรือสาหร่าย ข้าวเหนียว เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่สาหร่ายที่แท้จริง แต่ถูกจัดให้เป็นพืชชั้นสูง เนื่องจากมีองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมือนกับพืชชั้นสูง สาหร่ายในวงวิทยาศาสตร์ หมายถึง สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ส่วนใหญ่มี ขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยในการศึกษารายละเอียด มีการดำรงชีพหลายแบบอาจอยู่แบบอิสระ หรืออยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น และถูกจัดให้เป็นจุลินทรีย์กลุ่มหนึ่งด้วย สามารถพบได้ในสถานที่ที่มีความชื้น เช่น แหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำเค็ม ดินแฉะ หรือแม้แต่ตามกระถางต้นไม้ ภาพที่ท่านกำลังมองดูอยู่ด้านล่าง มิใช่สิ่งมีชีวิตจากนอกโลกแต่ประการใด แต่มันคือสาหร่ายเซลล์เดียว ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไป



นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหลายอาณาจักร (Kingdom) โดยเกณฑ์ในการจัดจำแนกมีมากมายหลายเกณฑ์ เช่น โรเบิร์ต เอช วิทเทคเกอร์ (Robert H. Whittaker) อาศัยลักษณะการได้รับสารอาหาร คือ การสังเคราะห์แสง การดูดซึม และการกินอาหาร เป็นเกณฑ์ในการจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักร คือ อาณาจักรโมเนอรา (Monera) อาณาจักรโพรทิสตา (Protista) อาณาจักรเห็ดรา (Fungi) อาณาจักรพืช (Plantae) และอาณาจักรสัตว์ (Animalia) นอกจากเกณฑ์ของวิทเทคเกอร์แล้ว ยังมีเกณฑ์การจำแนกของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นอีก แต่ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการจำแนก หรือจะแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นกี่อาณาจักรก็ตาม สาหร่ายก็ยังคงจัดอยู่ในอาณาจักรโพรทิสตา ส่วนพืชน้ำบางชนิดที่มีคำว่า “สาหร่าย” นำหน้า ไม่ได้จัดอยู่ในอาณาจักรโพรทิสตา แต่ถูกจัดอยู่ในอาณาจักรพืชด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้ว

จากการศึกษาพบว่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นพวกแรกที่อุบัติขึ้นบนโลกนี้ หลายคนคงเคยลิ้มชิมรสชาติของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมาบ้างแล้ว ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะผู้ที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม คงรู้จักชื่อ สาหร่ายสไปรูไลน่า (Spirulina) เป็นอย่างดี นี่แหละเจ้าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่กล่าวถึง จากการศึกษาพบว่า สาหร่ายเหล่านี้มีคุณค่าทาง โภชนาการสูง ประกอบไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ มากมาย เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ บี ดี และเค เป็นต้น จึงเป็นช่องทางทางการตลาดทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขึ้นมากมายหลายยี่ห้อ นอกจากสไปรูไลน่า ยังมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดอื่นอีกที่มีประโยชน์ เช่น แอนาบีน่า (Anabaena) เป็นสาหร่ายที่อาศัยอยู่ร่วมกับแหนแดง ช่วยทำหน้าที่ในการตรึงไนโตรเจน พบว่าหากเลี้ยงแอนาบีน่าไว้ในนาข้าวจะสามารถช่วยตรึงไนโตรเจนให้แก่ข้าวได้ในปริมาณเดียวกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงในนาข้าว 5-6 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีการนำมาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่มีชีวิตมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในนาข้าว ปุ๋ยชีวภาพตามความหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีพ.ศ. 2544 คือ ปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมาใช้ในการปรับปรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ และทางชีวเคมี ซึ่งจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ในที่นี้ก็คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนั่นเอง โดยกำหนดให้มีเซลล์ของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินไม่น้อยกว่า 100,000 เซลล์ต่อกรัมของวัสดุรองรับหรือผลิตภัณฑ์ และจะต้องเป็นสาหร่าย สีเขียวแกมน้ำเงินที่ตรึงไนโตรเจนได้ เมื่อนำไปใส่ในนาข้าวแล้ว จะสามารถเจริญเติบโตเพิ่มจำนวน และดำเนินกิจกรรมตรึงไนโตรเจนได้ ซึ่งคือ การดึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถใช้ได้

หลายคนคงไม่ทราบว่ายาสีฟันที่เราใช้กันทุกวันจะเกี่ยวข้องกับสาหร่ายด้วย สาหร่ายกลุ่มไดอะตอม (Diatom) มีสารจำพวกซิลิกา (Silica) เป็นองค์ประกอบ จึงสามารถนำไปผสมกับยาสีฟัน ผงขัดโลหะ สีสะท้อนแสง ใช้ในการทำไดนาไมท์ (Dynamite) และใช้ในการทดสอบคุณภาพเลนส์ของกล้องจุลทรรศน์ ไดอะตอมเมื่อตายไปเปลือกและหยดน้ำก็จะทับถมสะสมอยู่ใต้ผืนพิภพ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ก็จะกลายเป็นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมที่สำคัญของโลกได้อีกด้วย

สาหร่ายที่มีจำนวนมากที่สุดคือ สาหร่ายสีเขียว เช่น ซีนีเดสมัส (Scenedesmus) คลอเรลลา (Chlorella) เพดิแอสทรัม (Pediastrum) เป็นสาหร่ายที่มีโปรตีนสูง จึงนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์น้ำ หรืออาจใช้เป็นอาหารโดยตรงให้แก่ลูกสัตว์น้ำ สไปโรไจร่า (Spirogyra) หรือ เทาน้ำ มักนำมาใช้ในการทำแกงจืด สาหร่ายกลุ่มนี้เป็นสาหร่ายที่มีความสำคัญอย่างมาก เป็นผู้ผลิตที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบนิเวศ ช่วยทำให้แหล่งน้ำมีความบริสุทธิ์มากขึ้น เพราะสามารถตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกสู่แหล่งน้ำ

สาหร่ายสีน้ำตาล เช่น ซาร์กัสซั่ม (Sargassum) มีแร่ธาตุไอโอดีนสูง จึงนิยมนำมาเป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์เลี้ยง พาดิน่า (Padina) ฟิวกัส (Fucus) มีโปแตสเซียมสูง นิยมนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ย ลามินาเรีย (Laminaria) มีสารอัลจิน (Algin) เป็นองค์ประกอบ นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น ทำเครื่องสำอาง แชมพู สบู่ ครีมโกนหนวด ครีมใส่ผม เคลือบกระดาษ ผสมในลูกกวาดและไอศกรีม เป็นต้น

นอกจากสาหร่ายที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสาหร่ายกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มที่มีประโยชน์ เช่น สาหร่ายสีแดง มีการสะสมสารในรูปของแป้งฟลอริเดียน (Floridean starch) นิยมนำมาทำวุ้นที่รับประทานกันทั่วไป และวุ้นที่เป็นองค์ประกอบของอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ สาหร่ายกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate) เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำในแหล่งธรรมชาติ สาหร่ายไฟ เช่น นิเทลล่า (Nitella) ใช้ประดับเพื่อความสวยงามในตู้เลี้ยงปลา เป็นต้น

ประโยชน์จากสาหร่ายยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านชีวภาพหากนำมาใช้ทดแทนสารเคมีได้ จะช่วยในการลดปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นปัจจุบันนักวิจัยได้พยายามหาวิธีการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยในการรักษาสภาพแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ